- Cr. SCB SME
SME ทำธุรกิจออนไลน์ รู้ไว้! คนไทยใช้โซเชียลเวลาไหน ?
หากคุณเป็นผู้ประกอบการหรือคนทำธุรกิจออนไลน์ การทำตลาดส่วนใหญ่จำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับช่องทาง ทางด้านออนไลน์อยู่เสมอ เพราะนอกจากการที่คุณจะสามารถโฟกัสกลุ่มเป้าหมายแล้ว บางครั้งคุณจำเป็นต้องรู้ด้วยว่า คนไทยมักใช้งานออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย (Social Media) ในเวลาใด เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจของคุณ และนี่คือข้อมูลจากงาน “Thailand Zocial Award 2016” ที่ธนาคารไทยพาณิชย์สามารถคว้ารางวัลสุดยอดแบรนด์ในกลุ่มการเงินการธนาคารบนโซเชียลมีเดียที่มี Engagement สูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
จากข้อมูลตลอดปี 2558 ที่ผ่านมา มีผู้คนโพสต์ข้อความสาธารณะทางโซเชียลมีเดียถึง 2,600,000,000 ข้อความ เฉลี่ยประมาณ 7 ล้านข้อความต่อวัน หรือราว 82 ข้อความ ถูกแชร์ และเกิดขึ้นใหม่ในทุก ๆ วินาที โดยข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นแสดงความคิดเห็น การแสดงอารมณ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่ใช้งานเฟซบุ๊กที่จะสามารถนำข้อมูลมาทำการตลาดต่อเนื่องได้ รวมถึงโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เช่น ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และไลน์ สามารถแบ่งข้อมูล ดังนี้
จำนวนการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทย
คนไทยมีจำนวนการใชัเฟซบุ๊ก สูงถึง 41 ล้านคน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เติบโตขึ้น 17% หรือคิดเป็น 60% ของจำนวนประชากรในประเทศ และมีข้อมูลน่าสนใจที่สัดส่วนเพศชายมีจำนวนมากกว่าเพศหญิงเป็นปีแรกด้วยสัดส่วน 21 ล้านคน กับ 20 ล้านคนตามลำดับ ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ (Facebook Page) มีมากถึง 7 แสนเพจ
ด้านทวิตเตอร์มีการใช้ปัจจุบัน 5.3 ล้านราย มียอดการใช้งานเติบโตขึ้น 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% ของการเติบโต ขณะที่อินสตาแกรมมีจำนวนใช้งาน 7.8 ล้านคน ส่วนไลน์มีจำนวน 33 ล้านคน
เฟซบุ๊กกับคนไทย
คนไทยถูกบันทึกในปี 2558 ว่าใช้งานเฟซบุ๊กมากเป็นอันดับ 8 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีช่วงเวลาการโพสต์มากที่สุด ประกอบด้วย ช่วง 10.00-12.00 น. ช่วง 13.00-16.00 น. และช่วง 20.00-21.00 น. ตามลำดับ
ส่วนช่วงเวลาที่คนกดถูกใจ แชร์ และแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก เพจ มากที่สุด คือ วันพุธช่วงเวลา 9.00-16.00 น. และช่วงเวลา 16.00 และ 20.00 น. ของวันอาทิตย์-วันพฤหัสบดี โดยที่ช่วงเวลาที่มีการกดถูกใจ แชร์ และแสดงความคิดเห็นน้อยที่สุดคือช่วง 5 ทุ่มถึง 8 โมงเช้า
ขณะเดียวกัน พฤติกรรมคนใช้เฟซบุ๊กส่วนใหญ่ให้ความนิยมคือ ความบันเทิง งานอดิเรกหรือกิจกรรม และเทคโนโลยี ตามลำดับ
คนไทยกับการใช้ทวิตเตอร์
นอกจากจะมียอดการใช้งานปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านคนแล้ว ข้อมูลเพิ่มเติมด้านช่วงเวลาพบว่า ช่วง 20.00-22.00 น. เป็นช่วงที่ผู้ใช้งานนิยมทวีตกันมากที่สุด โดยมีการกดถูกใจ และรีทวีต (retweet) มากที่สุดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือ 20.00-23.00 น. ของทุกวัน
คนไทยกับการใช้อินสตาแกรม
อีกหนึ่งแอพพลิเคชั่นโพสต์ภาพนิ่ง ภาพความเคลื่อนไหวยอดนิยมที่ปัจจุบันผู้ใช้งานรวม 7.8 ล้านคน ระบุช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานนิยมโพสต์มากที่สุดคือ ช่วงเวลา 20.00-21.00 น. ขณะที่ในช่วงเที่ยงคืนถึง 9 โมงเช้า เป็นช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานไม่นิยมโพสต์
นอกจากนี้ หากการใช้งานทางด้านธุรกิจผ่านอินสตาแกรมนั้น ช่วงเวลาที่ Engage ได้ผลมากที่สุดคือ ช่วงเวลา 17.00-22.00 น. โดยที่วันศุกร์ ช่วงเวลา 18.00-22.00 น. เป็นช่วงที่มีค่า Engage สูงที่สุดด้วย
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจสามารถกลั่นกรองข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างประสิทธิภาพ แบรนด์ก็จะสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้ด้วย โดยสามารถแบ่งได้เป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย
1. การสื่อสารของแบรนด์ (Brand Communication) เป็นข้อมูลพื้นฐานที่แบรนด์จะใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงใจ และตรงกลุ่มเป้าหมาย
2. การวิจัยผลิตภัณฑ์ (Product Research) คือการใช้ฐานข้อมูลทางโซเชียลมีเดียในการรับฟีดแบ็กของสินค้า และบริการนั้น ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด
3. การวิเคราะห์คู่แข่ง (Competitor Analysis) การทำธุรกิจไม่ว่าธุรกิจใด คู่แข่งนับเป็นอีกจุดที่แบรนด์จำเป็นต้องศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาพรวม ความเคลื่อนไหว จุดเด่น รวมถึงจุดด้อยที่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาเพื่อสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจ
4. การจัดการกรณีปัญหาเร่งด่วน (Crisis management) ด้วยปัจจุบันโซเชียลมีเดียเป็นการสื่อสารที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การรับรู้ข้อมูลแบบ Real-time จึงมีส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพื่อนำข้อมูลมาใช้แก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ ทำให้การคลี่คลายปัญหาจึงต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่สังคมมีต่อแบรนด์
5. การบริการลูกค้า (Customer support) เนื่องด้วยปัจจุบันการให้บริการ Call Center มีจำนวนน้อยลง และมีพฤติกรรมการโพสต์ทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้การใช้โซเชียลมีเดียมีความจำเป็นอย่างมากในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า การให้บริการ รวมถึงการช่วยแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วย
จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้เข้าใกล้การดำเนินชีวิตของคนไทยมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลมาใช้เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจของคุณได้ และสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรรู้ก็คือการปรับตัวเข้าสู่การทำตลาดด้านออนไลน์มากขึ้น เพราะถ้าความนิยมผู้บริโภคเปลี่ยน คุณก็จำเป็นต้องปรับตัวตามให้ทัน
ที่มา : SCB SME